บทความน่าอ่าน
พระราชทานไว้ให้แผ่นดิน หลักธรรมในพระราชา รัชกาลที่ 9

หลักธรรมในพระเจ้าแผ่นดิน รัชกาลที่ 9 เตือนสติจิตใจของประชาชน หนทางไปสู่ความสุขสงบในชีวิต

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงไปของวัตถุนิยมในโลกสมัยใหม่ จนทำให้วัฒนธรรม ประเพณีนิยม จริยธรรม และคุณธรรมที่สังคมยึดถือมาตั้งแต่บรรพบุรุษเริ่มหายไป แล้วรับเอาค่านิยมในซีกโลกตะวันตกเข้ามาแทนที่วิถีชีวิตดั้งเดิม ก่อให้เกิดความยุ่งเหยิงในสังคม และมีความขัดแย้งทับซ้อนเกิดขึ้นระหว่างคนที่ยึดถือในวิถีดั้งเดิม และคนที่ดำเนินตามแบบในกระแสนิยม

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราโชวาทเพื่อเตือนสติจิตใจของประชาชน  ให้น้อมนำไปใช้ดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข จนเป็นหนทางไปสู่ความสุขสงบในชีวิต ซึ่งพระองค์ได้พระราชทานแก่ประชาชนชาวไทย เนื่องในวโรกาสต่าง ๆ ทุกครั้งที่ได้มีโอกาสเสด็จฯ พบปะพสกนิกร ดั่งเช่นครั้งที่เสด็จฯ ไปพบกับคณะลูกเสือชาวบ้านที่มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในโอกาสเสด็จฯ กลับจากแปรพระราชฐานจากจังหวัดสกลนคร ณ สนามบินดอนเมือง วันอาทิตย์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.  2527 ความว่า

“…ความฟุ้งเฟ้อทำให้เกิดความไม่พอ คนเราฟุ้งเฟ้อก็ไม่มีทางที่จะหาทรัพย์มาป้อนความฟุ้งเฟ้อได้ ความฟุ้งเฟ้อเป็นปากที่อ้าตลอดเวลา ป้อนเท่าไหร่ก็ไม่พอ หาเท่าไหร่ก็ไม่พอ ฉะนั้น จะต้องหาทางป้องกันความฟุ้งเฟ้อ และป้องกันวิธีการที่จะนำมาป้อนความฟุ้งเฟ้อ ซึ่งก็คือการทุจริต…”

เช่นเดียวกับพระราชดำรัส พระราชทานแก่คณะผู้แทนองค์การศาสนาและผู้แทนสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในการเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาผกาภิรมย์ วันพฤหัสบดีที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2512 ความว่า

“…คนเราต้องมีศาสนา คือความคิดหรือสิ่งที่คิดประจำใจอันเป็นแนวทางปฏิบัติในใจประจำตัว และต้องมีการศึกษา คือความรู้ต่าง ๆ ทั้งในด้านจิตใจ ทั้งในด้านวัตถุ เพื่อประกอบกับตัว เพื่อที่จะมีชีวิตอยู่ได้ ทั้งสองอย่างเป็นสิ่งที่สำคัญและเป็นสิ่งที่จะแยกกันไม่ได้…”

และคุณธรรม 4 ประการในคราวพระราชพิธีบวงสรวงสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง พระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี เมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2525 เกี่ยวกับคุณธรรม 4 ประการ เป็นแนวทางไปสู่ความสุขสงบในชีวิตยุคนี้ได้ ความว่า

“…การรักษาอิสรภาพและความเป็นไทยให้ดำรงมั่นคงยืนยาวไป ถือว่าเป็นกรณียกิจอันสำคัญสูงสุด นอกจากต้องอาศัยการบริหารประเทศที่ฉลาด สามารถ และสุจริตเป็นธรรมแล้ว ต้องอาศัยความร่วมมือสนับสนุนจากประชาชนทั้งประเทศด้วย คือ ประชาชนแต่ละคนจะต้องขวนขวายสร้างสรรค์ประโยชน์และดำรงอยู่ในคุณธรรม อันสมควรแก่ฐานะของตน  คุณธรรมที่ทุกคนควรจะศึกษา และน้อมนำมาปฏิบัติมีอยู่ 4 ประการ

ประการ 1 คือ การรักษาความสัจ ความจริงใจต่อตัวเองที่จะประพฤติปฏิบัติแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรม

ประการ 2 คือ การรู้จักข่มใจตนเอง ฝึกใจตนเองให้ประพฤติปฏิบัติในความสัจ ความดีนั้น

ประการ 3 คือ การอดทน อดกลั้น และอดออม ที่จะไม่ประพฤติล่วงความสัจสุจริต ไม่ว่าจะด้วยเหตุประการใด

ประการ 4 คือ การรู้จักละวางความชั่ว ความทุจริต และรู้จักสละประโยชน์ส่วนน้อยของตน เพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่ของบ้านเมือง

คุณธรรม 4 ประการนี้ ถ้าแต่ละคนพยายามปลูกฝัง และบำรุงให้เจริญงอกงามขึ้นโดยทั่วกันแล้ว จะช่วยให้ประเทศชาติบังเกิดความสุข ความร่มเย็น และมีโอกาสที่จะปรับปรุงพัฒนาให้มั่นคงก้าวหน้าต่อไปได้ดังประสงค์…”

พระบรมราโชวาทและพระราชดำรัส คำสั่งสอนทั้งหลายบางประการที่อัญเชิญมา ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นคุณธรรมของพระเจ้าแผ่นดินที่ธำรงไว้ในพระองค์ ซึ่งได้มีพระเมตตาพระราชทานถ่ายทอดแด่พสกนิกร ด้วยมีพระราชประสงค์ก่อให้เกิดประโยชน์  หากทุกคนในชาติได้นำไปปฏิบัติตาม ประเทศชาติก็จะมีแต่ความร่มเย็นไปด้วย นับว่าไม่มีการน้อมเกล้าฯ ถวายชัยมงคลใดจะประเสริฐไปกว่าหลักธรรมคำสอนที่พระองค์ทรงพระราชทานไว้ให้แก่ชาติบ้านเมืองนี้อีกแล้ว

โพสเมื่อ : 25 ม.ค. 2560,15:34   อ่าน 2041 ครั้ง