ทศพิธราชธรรม เป็นธรรมะที่ปรากฏในคัมภีร์พระบวรพุทธศาสนา อันหมายถึงพระราชจริยาที่พระมหากษัตริยาธิราชได้ทรงปฏิบัติเพื่อประชาชนและประเทศชาติ ด้วยพระวิริยะอุตสาหะ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่งที่บำเพ็ญพระราชกรณียกิจด้วย “ทศพิธราชธรรม” ด้วยน้ำพระราชหฤทัยอันเปี่ยมด้วยความเสียสละ บริสุทธิ์ เพื่อปวงสุขของประชาชน แม้ในยามที่ทรงพระประชวรก็ทรงระลึกถึงพสกนิกร ดั่งข้อความส่วนหนึ่งในพระราชหัตถเลขาถึงพระสหาย อุทัย ศุภนิตย์ ขณะประทับศึกษาที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ หลังจากขึ้นครองราชย์ว่า “…เมื่อข้าพเจ้าเป็นนักเรียนอยู่ในยุโรป ข้าพเจ้าไม่เคยตระหนักว่าประเทศของข้าพเจ้าคืออะไร และเกี่ยวข้องกับข้าพเจ้าแค่ไหน สุขทั้งแผ่นดินไม่ทราบตราบจนกระทั่งข้าพเจ้าได้เรียนรู้ที่จะรักประชาชนของข้าพเจ้าเมื่อได้ติดต่อกับเขาเหล่านั้น ซึ่งทำให้ข้าพเจ้าสำนึกในความรักอันมีค่ายิ่ง ข้าพเจ้าไม่เป็นโรคคิดถึงบ้านที่จริงจังอะไรนัก แต่ข้าพเจ้าได้เรียนรู้โดยการทำงานที่นี่ว่า ที่ของข้าพเจ้าในโลกนี้คือการที่ได้อยู่ท่ามกลางประชาชนของข้าพเจ้า นั่นคือคนไทยทั้งปวง…” (ธ สถิตในดวงใจราษฎร์ 2542 , The Post Publishing Public Company Limited: 10)
จากพระราชหัตถเลขาข้างต้น ทำให้คนไทยได้เห็นถึงความห่วงใยที่พระองค์มีต่อปวงประชาราษฎร์ ด้วยทรงประกอบพระราชกรณียกิจเพื่อความเป็นอยู่สุข ตามพระราชปณิธานที่พระราชทานเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ตลอดรัชสมัยอย่างทรงไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย ด้วยพระราชหฤทัยเปี่ยมไปด้วยความรักความเมตตาเอื้ออาทรต่อพสกนิกรของพระองค์ ทรงมีพระอุตสาหะเสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานโครงการตามพระราชดำริ ทรงติดตามประเมินผล วิเคราะห์วิจัยปรับปรุงโครงการเพื่อเอื้ออำนวยแก่ราษฎรอย่างแท้จริง
โครงการฯ ที่พระองค์ทรงดำเนินสามารถช่วยยกระดับฐานะความเป็นอยู่ของราษฎร ทั้งสุขอนามัย สาธารณูปโภค ความด้อยโอกาสต่าง ๆ โดยเฉพาะพระราชทานแหล่งน้ำ ซึ่งมีความสำคัญแก่อาชีพเกษตรกร อันเป็นอาชีพหลักของผู้คนในชนบทแบบยั่งยืน ด้วยมีพระราชปณิธาน “พัฒนาชนบทแบบยั่งยืนถาวร”
นอกจากการพระราชทานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่มุ่งเน้นยกระดับคุณภาพชีวิตประชากร ในหลวง รัชกาลที่ 9 ยังทรงให้ความสำคัญกับการพัฒนาศึกษา จากการตระหนักดีว่าการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญให้ประเทศเจริญรุ่งเรือง ดั่ง พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตวิทยาลัยวิชาการศึกษา ประสานมิตร 27 พฤศจิกายน 2515 ว่า “…การให้การศึกษานั้น กล่าวโดยจุดประสงค์ที่แท้จริง คือการสร้างสรรค์ความรู้ ความคิด พร้อมทั้งคุณสมบัติและจิตใจที่สมบูรณ์ให้เกิดขึ้นในตัวบุคคล เพื่อช่วยให้เขาสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมั่นคงและราบรื่น ทั้งสามารถบำเพ็ญประโยชน์สุขเพื่อตน เพื่อส่วนรวมได้ตามควรแก่อัตภาพ ผู้ทำหน้าที่ด้านการศึกษาทุกฝ่ายทุกระดับ ควรจะได้มุ่งทำงานเพื่อวัตถุประสงค์นี้ยิ่งกว่าสิ่งใด…”
รูปแบบแนวคิดดังกล่าวเป็นตัวอย่างในรากฐานชุดความคิดที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ถ่ายทอดอยู่เสมอ ถึงการให้ความรู้ ความคิด และขัดเกลาให้คนมีคุณสมบัติและสภาพจิตใจที่สมบูรณ์ โดยมุ่งเน้นที่จะให้การศึกษาเป็นปัจจัยหลักสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพมาเพื่อพัฒนาประเทศ ไม่เห็นเพียงแต่ประโยชน์ส่วนตน แต่ต้องเสียสละช่วยเหลือประโยชน์ส่วนรวมตามกำลังที่สามารถทำได้ อันเป็นหลักการในการเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9