บทความน่าอ่าน
“ธนาคารข้าว” พระราชดำริเพื่อชาวนาไทย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ มีพระราชปรารภว่า ประชาชนทั่วไปต้องซื้อข้าวราคาแพง ทั้งที่ข้าวเปลือกที่ชาวนาขายได้ราคาไม่แพง เนื่องจากพ่อค้าคนกลางแสวงหากำไรเกินควร พระองค์ท่านจึงมีพระราชประสงค์ให้จัดตั้งธนาคารข้าวเพื่อช่วยแก้ปัญหา

ธนาคารข้าว เริ่มขึ้นเมื่อพุทธศักราช 2513 เพื่อบรรเทาปัญหาชาวนาผู้ปลูกข้าวแต่ไม่มีข้าวกิน หรือไม่มีพันธุ์ข้าวเปลือกสำหรับเพาะปลูก ถูกเอารัดเอาเปรียบเมื่อนำข้าวไปสีที่โรงสีเอกชน กรมการพัฒนาชุมชนกระทรวงมหาดไทยจึงจัดให้ชาวนามีศูนย์กลางรวมข้าวของหมู่บ้าน ให้บริการข้าวเปลือกแก่สมาชิกในหลายลักษณะ เช่น ให้เปล่า ให้โดยแลกแรงงาน ให้ยืม และให้กู้ โดยนำมาคืนพร้อมดอกเบี้ยเมื่อปลูกข้าวได้ เช่น กู้ข้าวเปลือก 10 ถัง ส่งคืน 11 ถัง ธนาคารข้าวอยู่ในความดูแลของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย และกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน สำหรับพื้นที่ติดชายแดน

ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมมาแต่อดีต ชาวนาไทยปลูกข้าวเลี้ยงคนในประเทศ แต่กลับมีชีวิตที่ยากลำบาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงเห็นความสำคัญของชาวนาและการปลูกข้าว มีพระราชดำริมาอย่างต่อเนื่องว่าคนไทยต้องปลูกข้าวเพื่อมีกินในครอบครัวและเหลือจำหน่ายเป็นรายได้ ไม่ต้องเป็นหนี้หรือพึ่งพาผู้อื่น ทำให้ขาดอิสรภาพ ไม่สามารถพัฒนาสู่การมีชีวิตแบบประชาธิปไตย

จากการที่พระองค์ท่านได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมและแก้ไขปัญหาให้แก่ชาวนาชาวไร่มาโดยตลอด ทรงเล็งเห็นปัญหาที่ชาวนาต้องซื้อข้าวราคาแพงทั้งที่เป็นผู้ปลูก และเมื่อปลูกได้มาก็ถูกพ่อค้าคนกลางที่มารับซื้อกดราคา บางครั้งต้องกู้ยืมข้าวหรือเงินจากพ่อค้าคนกลาง เสียดอกเบี้ยในอัตราที่สูงมาก บางกรณีกู้ยืมโดยวิธีการขายข้าวเขียวหรือข้าวที่ยังเก็บเกี่ยวไม่ได้ ทำให้ผลผลิตข้าวไม่เพียงพอบริโภคและชำระหนี้ กลายเป็นผู้มีหนี้สินพอกพูน พึ่งตนเองไม่ได้ เป็นปัญหาซ้ำเติมชาวนาที่ยากจนอยู่แล้วให้ยากจนยิ่งขึ้น

พุทธศักราช 2513 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรบ้านป่าแป๋ อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นพื้นที่ห่างไกลการคมนาคม เมื่อราษฎรปลูกข้าวได้ผล มีผู้ไปรับซื้อและกดราคาเนื่องจากเดินทางออกมาขายเองได้ลำบาก จึงต้องจำยอม พ่อค้าคนกลางมีวิธีการรับซื้อและจำนำข้าวจนชาวนาไม่มีข้าวเหลือเลี้ยงครอบครัว เมื่อทรงทราบปัญหาของชาวนาในพื้นที่ ซึ่งประกอบอาชีพทำนาแต่ไม่มีข้าวกิน จึงพระราชทานพระราชทรัพย์ 20,000 บาท จัดตั้งธนาคารข้าว มีพระราชดำริกำหนดแนวทางของธนาคารว่า ผู้ยืมข้าวต้องส่งคืนเมื่อเก็บเกี่ยวได้ในฤดูต่อไป และให้รวมตัวดูแลช่วยเหลือกันและกัน

พุทธศักราช 2519 ธนาคารข้าวอีกแห่งหนึ่งเกิดขึ้นที่หมู่บ้านกะเหรี่ยง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระราชทานข้าวเปลือกแก่ผู้ใหญ่บ้านเป็นทุนเริ่มดำเนินกิจการ พร้อมแนวพระราชดำริให้หน่วยราชการที่รับผิดชอบชี้แจงราษฎรอย่างง่าย ๆ แต่ต้องให้แน่ใจว่าชาวไทยภูเขาทุกคนเข้าใจดี การดำเนินงานธนาคารมีคณะกรรมการควบคุม คัดเลือกราษฎรในหมู่บ้าน และพิจารณาจำนวนข้าวที่จะให้ยืมและรับคืน จัดทำบัญชี ติดตามการให้ยืมและรับคืนข้าวเมื่อชาวนาปลูกข้าวได้ พร้อมดอกเบี้ยจำนวนเล็กน้อยตามแต่ตกลงกัน ดอกเบี้ยเก็บรวมไว้ในธนาคารถือเป็นสมบัติส่วนรวม กรรมการควบคุมมีสิทธิ์ขอยืมข้าวเท่ากับราษฎร ทุกคนต้องซื่อสัตย์ต่อหลักการ ว่าข้าวจากธนาคารเป็นของส่วนรวม เมื่อถึงกำหนดเวลาที่สัญญาต้องนำมาคืนพร้อมดอกเบี้ย นอกจากมีเหตุสุดวิสัยต้องชี้แจงอย่างชัดเจน ราษฎรต้องร่วมมือกันสร้างยุ้งที่แข็งแรง ทรงเน้นว่าหากปฏิบัติตามหลักการ จำนวนข้าวที่หมุนเวียนในธนาคารจะไม่มีวันหมด มีข้าวบริโภคตลอดไปจนถึงลูกหลาน เป็นแหล่งรักษาผลประโยชน์ของส่วนรวม และเป็นแหล่งอาหารสำรองของหมู่บ้าน

การดำเนินกิจการธนาคารข้าวเป็นการสงเคราะห์ เป็นกิจกรรมที่ชุมชนช่วยชุมชน โดยทางราชการเสนอแนะแนวทางปฏิบัติให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งโครงการธนาคารข้าวจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ สามารถแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชนได้เป็นอย่างดี ช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนข้าวบริโภคของชาวนา ทำให้ราษฎรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น นอกจากนี้ยังจะช่วยแก้ปัญหาหนี้สิน ที่เกษตรกรผู้ขาดแคลนไปกู้ยืมเงินหรือข้าวมาบริโภคโดยเสียดอกเบี้ยในอัตราสูงอีกด้วย

ข้อมูลจาก : หนังสือสารานุกรมพระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในรอบ 60 ปีแห่งการครองราชย์

โพสเมื่อ : 25 ม.ค. 2560,15:28   อ่าน 1421 ครั้ง